Keeping The Thread: รักษาสายธารแห่งธรรม Direct Knowledge: ความรู้แจ้ง ในความเป็นจริง เป็นไปได้ที่มนุษย์จะมีมุมมองที่เที่ยงตรงต่อจิตใจ มากกว่ามุมมองที่มีต่อดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรืออื่นๆ อาตมาอยากจะกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กับความรู้ด้านจิตวิญญาณสักเล็กน้อย ในทางวิทยาศาสตร์ มีความรู้สองแบบที่แตกต่างกัน คือความรู้ที่เกิดจากความคิดเห็นของมนุษย์ปุถุชน (Subjective Knowledge) และความรู้ที่เกิดจากผลการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ (Objective Knowledge) ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือมุมมองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและมีจุดยืนที่เป็นอิสระ ในทางวิทยาศาสตร์ ความรู้แบบที่ 2 ได้รับการยกย่องว่าเหนือกว่าแบบแรก แต่แนวโน้มเป็นไปได้มากที่จะมีอคติของมนุษย์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งยากที่จะกำจัดให้หมดไป เช่น เมื่อเรามองดวงดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ เพื่อทำแผนที่การเคลื่อนที่ของหมู่ดาว ซึ่งต้องใช้ดวงตามนุษย์มองผ่านกล้องโทรทรรศน์นั้น ความผิดพลาดจากมนุษย์จึงคืบคลานเข้ามา ความคิดเห็นส่วนตัวแทรกเข้ามา วิทยาศาสตร์จึงไม่เคยเอาชนะข้อบกพร่องนี้หรือก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปสู่ความรู้ที่แท้จริง ที่อยู่เหนืออคติของมนุษย์ได้ แล้วเป็นไปได้หรือที่เราจะเห็นจิตใจตามความเป็นจริง เราจะมีมุมมองนั้นได้อย่างไร เพราะจิตใจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความคิดเห็นของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ในความเป็นจริง มนุษย์สามารถมีมุมมองที่เที่ยงตรงต่อจิตใจ มากกว่ามุมมองที่มีต่อดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรืออื่นๆ เราสามารถรู้สภาวะของจิตใจได้อย่างแจ่มชัดมากกว่าอย่างอื่น เราอาจคิดว่าเรารู้เรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่แท้จริงแล้ว เรารู้จิตใจเรามากที่สุด ขอให้มั่นใจ ถ้าเราสามารถเห็นสภาวะของจิตใจอย่างแจ่มชัด และแยกแยะมันได้ มันจะเกิดความสว่างขึ้นในใจ เราอาจอุทานขึ้นว่า "ใช่แล้ว..นั่นไง" และเราก็เริ่มมีความมั่นใจว่ามองเห็นสภาวะของจิตแบบหนึ่ง ซึ่งต่างกับอีกแบบหนึ่ง มันเป็นปัญญาญาณ (Intuition) ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญญาที่ลึกลับซับซ้อน แต่สว่างชัดมาก เราสามารถเห็นจิตที่เป็นกุศลและอกุศลเหมือนกับเป็นสัตว์คนละชนิดกัน ยิ่งปฏิบัติมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น กุศลจิต มักจะเปิดกว้าง สว่างไสวและแจ่มชัด ขณะที่อกุศลจิตมักจะอัดแน่น มืดทึบ และห่อเหี่ยว สภาวะจิตที่สว่างหรือมืด สงบหรือกระวนกระวาย จะแสดงให้เราเห็นได้อย่าง แจ่มชัดในจิตใจ เราไม่จำเป็นต้องนำตัวเองเข้าไปสู่โลกแห่งศีลธรรมหรือโลกแห่งการตัดสินว่าถูกหรือผิด เพื่อจะเห็นผลของความคิด หรือการกระทำด้วยตัวเราเอง กุศลจิตจะนำไปสู่จิตใจที่เปิดกว้าง นิ่ง สงบ ราบเรียบ และสว่าง ขณะที่อกุศลจิตจะนำไปสู่ความเศร้าหมอง หงุดหงิด มืดมน น่ากลัวและลึกลับ คล้ายๆกับโลกมายากล หรือเวทมนตร์ จิตที่มืดมนจะถูกเปิดสู่ความสว่างด้วยกุศลจิต พลังแห่งคุณความดีเอาชนะความชั่วร้ายได้เสมอ เหมือนความสว่างที่ไล่ความมืดมน ไล่อกุศลออกไปจากจิตใจ จิตไม่ถูกล่อลวงหรือถูกปกคลุมด้วยหมอกควันของอกุศลจิต เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆเราจะสังเกตว่าสามารถพูดถึงสภาวะของจิตตามความเป็นจริง โดยไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราสามารถตระหนักรู้ถึงพลังมืดโดยไม่ให้ค่าว่าอยู่ข้างในหรือข้างนอกตัวเรา เราสามารถระลึกรู้ถึงมารหรือพายุอารมณ์ที่กำลังพาเราหลงทางไปทางใดทางหนึ่งด้วยใจที่เป็นกลาง ระลึกรู้ถึงควันมืดที่ปกคลุมจิตใจ ไม่ให้เราเห็นแจ้งในความจริง และในทางตรงกันข้าม จิตที่สว่างจะทำให้เรากระจ่างชัดในความจริง และสามารถปัดเป่าความมืดมนออกไปได้ ในทางจิตวิทยาอาจกล่าวในทำนองว่ากิเลส หรือ อกุศลจิต เป็นเหมือนม่านหรือเกราะป้องกัน ที่คอยปกปิดไม่ให้เรารู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงความเป็นอนิจจังในตัวเรา ซึ่งมองดูเหมือนเป็นความหวังดี เพราะถ้าความตายเป็นเรื่องเศร้าหมอง เราอาจคิดว่า จิตของเราหวังดี พยายามซ่อนความจริงนี้ไว้ไม่ให้เราเป็นทุกข์ ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น จิตที่ผ่องแผ้วจะสามารถเปิดให้เราระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง เป็นสัจธรรมว่า กายนี้ไม่ใช่ของเรา และจะไม่ปกปิดความจริงอันนี้ไว้ เป็นไปได้ที่บางทีพลังของอกุศลจิตเหมือนจะพยายามเกื้อกูลเรา ด้วยการซ่อนความจริงที่เรามักมองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นไว้ เพราะมันจะทำให้เราทุกข์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารู้แจ้งในความจริงของกายว่าเป็นอนิจจัง มันกลับไม่ทำร้ายเรา แต่กลับจะปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ เมื่อเราเริ่มเข้าใจตรงนี้ เราจะกระจ่างในกลลวงของสภาวะจิต ที่แท้จริงแล้วไม่ได้พยายามปกป้องเราจากสิ่งที่มันคิดว่าเราไม่สามารถรับมือได้ แต่กลับพยายามหลอกล่อเราให้มองเห็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง ไม่ให้เห็นกระจ่างชัดในความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจังของร่างกาย หรือความตาย การเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่งดงาม บ่อยครั้งคนที่ถูกวินิจฉัยว่ารักษาโรคไม่ได้ ถ้าไม่ทำให้เขาสิ้นหวังไปเลย ก็ทำให้เขารู้สึกเหมือนมีชีวิตใหม่ ด้วยการหันหน้าเข้าหาธรรมะ ใช้ชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้น และถ้าเขาตระหนักรู้ในความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจังได้ เขาจะเลิกกลัวความตายในที่สุด อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai
" The mind can remain steady" : จิตใจสามารถคงสภาวะธรรมไว้ได้ อาตมาอยากจะเสนอข้อคิดบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติที่มีความเจ็บปวดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทั่วไป เราเรียนรู้ที่จะทนกับความเจ็บปวดที่ไม่มีผลร้ายต่อร่างกายได้ในขณะนั่งปฏิบัติ ยิ่งฝึกนานขึ้น เราก็จะสามารถทนต่อความไม่สบายทางกายได้มากขึ้น ซึ่งความเจ็บปวดเช่นนี้ ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย คนส่วนใหญ่มักจะแยกออกระหว่างความเจ็บปวดทั่วไปที่เกิดจากการนั่งนานๆ กับความเจ็บแปลบอย่างรุนแรงที่เป็นสัญญาณ ของปัญหาข้อเข่าหรือหลังที่ตามมา ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ คือการฝึกร่างกายให้ทนกับความเจ็บปวดที่ไม่มีผลเสียกับร่างกายได้ เมื่อร่างกายเราแข็งแกร่งขึ้น จิตใจก็จะมั่นคงขึ้นด้วย การฝึกฝนที่จะไม่หนีความยากลำบากจึงเป็นสิ่งที่ดีและมีเป็นประโยชน์ เราจะพบว่า เราควรเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตบ้างเพื่อให้รู้สึกอิสระ ไม่ติดกับดักความสบาย เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เพื่อหาความสบายและหลีกเลี่ยงความยากลำบากไปมากเท่าไหร่แล้ว ถ้าเราหัดนั่งดูความเจ็บปวดบ้าง เราจะรู้ว่ามันไม่แย่อย่างที่คิด โดยเฉพาะในกรณีที่เราสามารถแยกความรู้สึกทางกาย และความรู้สึกทางใจออกจากกันได้ โดยใช้สติและความรู้ตัวทั่วพร้อม ตัวอย่างเช่น เมื่อเราปวดเข่าในขณะที่นั่งปฏิบัติ แม้จะไม่อยากนั่งทนความเจ็บปวดนั้น แต่ในตอนแรก เราก็ต้องฝืนเอาบ้าง พอเราเริ่มให้ความสนใจไปที่เข่า และบริเวณรอบๆนั้น เราจะรู้สึกว่า มันถูกความเจ็บปวดครอบคลุมจนสั่นสะเทือน เราเริ่มรับรู้สองสิ่งที่เกิดขึ้น และตระหนักว่าสองสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ใจเราเริ่มแยกมันออกจากกัน ขณะที่ความปวดทางกายชัดเจนขึ้นทุกที ถ้าใจเราเริ่มขุ่นมัวเพราะความเจ็บปวดนั้น เราจะเห็นได้ทันทีว่า ใจเราหรืออารมณ์ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความเจ็บปวดทางกาย สองสิ่งนี้แยกจากกันโดยเด็ดขาด เหมือนน้ำกับน้ำมันที่อยู่ในขวดเดียวกันแต่ไม่ปนกัน บางครั้งความเจ็บปวดทางกายก็หายไป เมื่อเราแยกอารมณ์และความเจ็บปวดออกจากกัน แต่บางครั้งมันก็ยังคงอยู่ แต่เรามีความอดทนมากขึ้น ความทุกข์จึงน้อยลง สังเกตว่า ความเจ็บปวดและความทุกข์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บางครั้งความเจ็บปวดมีมาก แต่เราทุกข์น้อย หรือบางครั้งความเจ็บปวดมีน้อยแต่เราทุกข์มาก ถ้าเรารู้ว่าความเจ็บปวดนั้นไม่ทำอันตรายกับเรา เราจะทุกข์กับมันน้อยลง ความเจ็บปวดเป็นสัญญาณที่บอกให้เราระวังไม่ให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บ ถ้าทันทีที่เราลุกขึ้นเดิน แล้วความเจ็บปวดหายไป ก็แสดงว่าความเจ็บปวดนั้น ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกาย เราจึงควรฝึกที่จะทนมันให้ได้ เราสามารถฝึกจิตไม่ให้วุ่นวายกับสิ่งที่เป็นปกติดีอยู่ ถ้าเราทนกับความไม่สบายกายเช่นนี้ได้ เราก็สามารถทนกับสิ่งอื่นๆได้เช่นกัน ต่อไป เราก็รู้วิธีที่จะทนกับความไม่สบายใจได้ด้วยวิธีเดียวกัน ถามตัวเองว่า เราไปเพิ่มความทุกข์ในใจเหมือนที่เราทำกับกายหรือไม่ เราทำให้ใจเราทุกข์น้อยลงโดยวิธีที่ฉลาด หรือทำให้ทุกข์มากขึ้นโดยวิธีอื่น ถ้าเรารู้ว่าเราเพิ่มความทุกข์ให้ตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง เพราะการที่เรารู้ตัวและมองเห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราจะหยุดทำสิ่งนั้นได้เอง เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ประสบการณ์ในตัวเราเองจะค่อนข้างสับสน เพราะเต็มไปด้วยความรู้สึกและความคิดปะปนเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นประสบการณ์เดียวกัน คือ "ฉันรู้สึกอย่างไร" ทุกอย่างจะสับสนปนเปไปหมด แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย และอะไรเป็นความเจ็บปวดทางใจ หรือแยกอารมณ์กับร่างกายไม่ออก บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่า ร่างกายคือกลุ่มก้อนของความรู้สึก เราจับตัวตนจริงๆของร่างกายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของมัน เรามักจะลืมมุมมองด้านอื่น เพราะมัวแต่เพ่งอยู่กับความเจ็บปวดที่เราไปยึดมันไว้ แล้วทำให้มันแย่ขึ้นไปอีกโดยการรัดมันไว้แน่น ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเพ่งอยู่กับความเจ็บปวด ถ้าใจเราเปิดรับมันเสีย มันคือก้าวแรกที่จะผ่อนคลายและวางความเจ็บปวดนั้นได้ จากประสบการณ์ของอาตมา ซึ่งผ่านความเจ็บปวดมามากมาย เคยมีปัญหาเกี่ยวกับหลังและบาดเจ็บจากงานก่อสร้างและการใช้ร่างกายทำงานหนักมานานนับปี อาตมาจึงสามารถพูดเรื่องนี้ได้จากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่ฟังคนอื่นมา วิธีที่พูดถึงนี้ ได้ผลดีกับอาตมาและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อมีความเจ็บปวด เมื่อใจเรานิ่งได้โดยการปฏิบัติภาวนา ใจเราก็สามารถคงสภาวะธรรมนั้นไว้ได้ ในเวลาที่เจ็บปวดเช่นกัน อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai "It's the way we see things that forms our thoughts and emotions": วิธีการมองสิ่งต่างๆ เป็นต้นแบบของอารมณ์และความคิดของเรา เมื่อเราเริ่มปฏิบัติภาวนา และเรียนรู้ที่จะเข้ามาดูความคิดและอารมณ์ของตัวเอง บางครั้งเราก็เห็นดีด้วยกับการคิด บางครั้งเราก็ต่อต้าน คือถ้าเรามองว่าความคิดเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เราจะเห็นว่าควรคิด แต่ถ้าเราเชื่อว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติภาวนา คือการไม่คิด เราก็จะต่อต้านมัน หรือไม่อยากคิดเอาเสียเลย ในทำนองเดียวกันกับอารมณ์ของเรา เราจะมองว่ามันเป็นแหล่งที่มาของภูมิปัญญา หรือที่มาของความทุกข์ก็ได้ ดังนั้นเราอาจจะอยากเรียนรู้จากมันหรือหนีห่างจากมันก็ได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่า ใจเราเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และตลอดเวลาเมื่อดูจากความคิดและอารมณ์ของเรา บางครั้งก็ต่อต้าน บางครั้งก็อยากที่จะคิดและอยู่กับอารมณ์นั้นๆ ซึ่งอาจทําให้เกิดความสับสน เพราะแม้แต่อาจารย์ที่สอนเรา บางท่านก็ดูเหมือนจะชอบให้คิดหรืออยู่กับอารมณ์ บางท่านก็ต่อต้านมัน พระพุทธเจ้าสอนว่าความคิดและอารมณ์ก็เป็นแค่กระบวนตอบสนองต่อสิ่งเร้าเท่านั้น เพราะมันถูกขับเคลื่อนด้วยอกุศลจิต คือโลภะ โทสะและโมหะ หรือ กุศลจิตที่ไม่มีความโลภ โกรธ หลง มาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีความคิดและอารมณ์เกิดขึ้นได้ ถึงแม้บางครั้งมันอาจจะแตกต่างไปจากความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตอนแรกๆ แต่ก็เป็นกระบวนการเดียวกัน ซึ่งอาจเรียกอย่างเปรียบเทียบได้ว่าเป็น "ระบบเดียวกัน ต่างต้นแบบ" ก็ได้ อาจมีบางครั้งที่ใจเรามีปัญญา ทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ แต่ในบางครั้งที่ใจเรามืดบอดก็ทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ค่อยฉลาดนัก ทำนองเดียวกันกับความคิด ถ้าใจเรามีปัญญา ความคิดดีๆก็ตามมา ถ้าเบาปัญญา ความคิดก็อาจเป็นไปในทางที่ไม่ดีนัก เหล่านี้เป็นกระบวนการที่เป็นสัจธรรม แต่เรามักมองไม่เห็น หรือมองข้ามไป ทั้งๆที่มันเกิดขึ้นก่อนสิ่งอื่นใดทั้งมวล วิธีการมองสิ่งต่างๆเป็นต้นแบบของอารมณ์และความคิดของเรา ซึ่งเป็นจริงจากชั่วขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง ถ้าเราเข้าถึงกระบวนการที่เป็นสัจธรรมนี้ เข้าใจการทำงานของจิต และตระหนักถึงการมองสิ่งต่างๆ ทุกอย่างก็จะชัดเจนขึ้น เช่น วันนี้เรามองแบบนี้ เพราะอารมณ์และความคิดของเรานำไป ดังนั้นมันสามารถชักนำเราไปในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นเหตุและผล เป็นวงโคจรที่เราเวียนว่ายอยู่ เป็นโซ่แห่งวัฏสงสาร ซึ่งผูกอยู่กับโลภะ โทสะ และโมหะ โซ่นี้อาจจะเป็นโซ่แห่งการหลุดพ้นได้เช่นกัน ถ้าเราสละได้ซึ่งความโลภ โกรธ หลง เราจึงไม่คาดหวังว่าปรมาจารย์ทั้งหลายจะหยุดคิดหรือไม่มีความคิดเสียเลย แต่ใจเขาจะปลอดจากความคิดที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ถึงแม้เขาจะมีความคิดและความรู้สึกอยู่ แต่มันเกิดจากเหตุผลที่ต่างออกไป ขึ้นอยู่กับพื้นฐานธรรมของแต่ละคน และสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อเวลาผ่านไป เราจะตระหนักว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าความคิดและอารมณ์ มันเป็นสิ่งที่บรรจุทั้งสองสิ่งนี้ไว้ด้วยกัน ซึ่งใหญ่กว่าและถาวรกว่า เราเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ มันเกิดขึ้นและดับไป ในกรอบที่กว้างขึ้น เมื่อเราเริ่มเข้าถึงกรอบที่ว่านี้ เราจะมองเห็นความโลภหรือความไม่โลภในใจ เราสามารถมองเห็นจิตที่แท้จริงได้ ซึ่งถ้าทำได้ เราจะเรียนรู้อย่างแจ่มชัดได้ด้วยตัวเองว่า มีความโลภอยู่ในใจหรือไม่ มีปัญญาเกิดขึ้นในใจหรือไม่ โดยการมองเห็นจิตอย่างที่มันเป็น สภาวะที่บริสุทธิ์ ที่ปราศจากความโลภ โกรธ หลง ต่างจากสภาวะของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ ซึ่งเราต้องมองให้เห็นได้ด้วยตนเองว่า ผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับความโลภ โกรธ หลง คือผู้ที่ยังอยู่ในสภาวะที่ยึดตัวยึดตน หรือ"สภาวะปิด" ขณะที่ผู้ละจากสิ่งเหล่านั้นได้ อยู่ใน"สภาวะเปิด" จิตที่อยู่ในสภาวะปิดก็เหมือนกับจิตที่ยึดตัวตน ดิ้นรน มืดมน ลึกลับ สับสน เหมือนมีพลังอันน่ากลัวแฝงอยู่ โดยที่เราไม่แน่ใจว่ามันกำลังจะทำอะไร ไปในทิศทางใด หรือกำลังเกิดอะไรขึ้น เปรียบเสมือนการไม่มีสตินั่นเอง สภาวะของจิตที่บริสุทธิ์ มักจะชัดเจนและเปิดกว้าง มีสติและความสงบควบคู่กัน ถ้าจิตไม่อยู่กับปัจจุบัน ความสงบจะไม่เกิดขึ้น เพราะแรงกระตุ้นด้านลบจะคอยคืบคลานเข้ามาในใจโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น มันอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควร ยึดถือว่า ทุกอารมณ์ดีหรือไม่ดี หรือ ยึดถือว่าทุกความคิดดีหรือไม่ดี เพราะเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป บางครั้งเราพยายามกำจัดความรู้สึกและความคิดที่เราไม่ชอบด้วยการบอกตัวเองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ ซึ่งเป็นการพูดแบบตัดสินโดยไม่เห็นใจตัวเอง หรือไม่มีความอดทนมากพอ ในทางกลับกัน คือการเชิดชูว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง แม้จะเป็นการมองที่เป็นบวก ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะใจเราไม่ได้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง มีศีลธรรม และฝึกสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ใจเราก็จะบริสุทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นคือศรัทธาที่เราเชื่อมั่นได้ ในฐานะผู้ปฏิบัติ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราควรจะเฝ้ามอง ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่เพื่อดูว่าใช่ หรือไม่ใช่หนทางที่จะนำเราไปสู่ความสุข หรือเป็นหนทางที่นำไปสู่ความทุกข์ อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai "ใจคน มักจะชอบมองหาแต่สิ่งที่ทำให้ตนพอใจ"
มีพระรูปหนึ่งในวัดเคยถามอาตมาอย่างสิ้นหวังว่า "ความคิดต่างๆที่เข้ามารุมเร้ารบกวนจิตใจผมมันมาจากไหน" คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมากทีเดียว ความคิดต่างๆเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ มันเป็นธรรมชาติของจิต ที่มักจะคอยปรุงแต่งเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตมุ่งแต่จะมองหาสิ่งที่ชอบและหลีกเลี่ยง-ผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบ การปรุงแต่งกับสิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลกับชีวิตเราอย่างมาก ถ้าจิตของเราคอยแต่จะวิ่งตามมันอยู่ตลอดเวลา ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความคิดของตนเป็นแรงขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตอย่างอัตโนมัติ ด้วยการถูกดึงดูดเข้าหาสิ่งที่ตนพอใจและจะผลักไสสิ่งที่ไม่น่าพอใจอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวัฒนธรรมสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่คนทั้งหลายมักจะให้ความสำคัญกับวัตถุ การมานั่งนิ่งๆเพื่อฝืนกระแสและขัดเกลากิเลสตัวเอง จึงเป็นการฝืนใจอย่างยิ่ง เพราะมันขัดกับความเคยชินที่ปล่อยให้ความคิดโลดแล่นตามกิเลสไปอย่างอิสระ นอกเสียจากว่าเราจะรู้เท่าทันมันเสียก่อน ถ้าเรามองเห็นและยอมรับอย่างที่มันเป็น เราจะไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะมันเป็นเพียงแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในใจ หรือเป็นเสียงเรียกร้องที่เกิดขึ้นในหัวของเรา เป็นอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆที่พยายามจะชักนำเราไปหาสิ่งที่ชอบ และผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบ การฝึกให้เกิดสติอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรารู้เท่าทันความความคิดปรุงแต่ง และสามารถปรับจิตใจให้สมดุลกับเป้าหมายทางธรรมได้ ซึ่งหมายถึงการเลือกสิ่งที่ทำให้พอใจ และผลักไสสิ่งที่ไม่น่าพอใจได้เช่นกัน แต่ในแบบที่ต่างไปจากเดิม ดังนั้นระบบการตอบสนองอัตโนมัติ จึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสียทีเดียว ถ้าเราฝึกให้มันตอบสนองไปในทิศทางที่ถูกที่ควร เมื่อได้ผ่านการฝึกฝนมาเป็นเวลานาน เราจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เราเกิดความยากลำบากได้ เช่นการประพฤติผิดศีลเป็นต้น ถ้าเราตั้งมั่นรักษาศีลได้แล้ว เราจะปฏิเสธการไปในที่อโคจรเช่น การเข้าผับ เข้าบาร์ได้โดยง่าย เพราะเรารู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสถานที่เช่นนั้น เราจึงหลีกเลี่ยงได้โดยอัตโนมัติ เหมือนเมื่อก่อนที่เราเคยเข้าผับเข้าบาร์ได้โดยไม่ต้องไตร่ตรอง แต่เมื่อเรายึดมั่นในศีล เราจะสามารถหันหนีจากสิ่งเหล่านั้นได้ทันทีเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เพราะต้องสร้างรูปแบบ และการตอบสนองแบบใหม่ขึ้นในใจเรา คนทุกคนมีแรงผลักดันสองอย่าง หนึ่ง คือ มีความสุขที่มีชีวิตอยู่ในธรรม สอง คือการมองเห็นตัณหาที่เคยมี ในแบบที่ต่างไปจากเดิม หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีความฉลาดในการมอง ถ้ามองเห็นและรู้เท่าทันมัน ตัณหาต่างๆเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น การมองเห็นเช่นนี้ ต้องอาศัยแรงจูงใจ เราต้องตระหนักว่า วิธีนี้จะพาเราไปสู่หนทางที่สงบ ร่มเย็น และเป็นสุข เพราะใจคนมักจะมุ่งหาสิ่งที่น่าพอใจสูงสุด เพียงได้รับรู้ถึงความสงบ ไม่เร่าร้อนด้วยตัณหา ก็เป็นความรู้สึกที่น่าพอใจประการหนึ่งแล้ว ถ้ามีใครสนใจใคร่รู้ ว่าความคิดที่ก่อกวนจิตใจเหล่านั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดนี้คือคำตอบ อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai “เปิดเผยความจริงภายในของจิต”
เราสามารถสรุปใจความสำคัญของการปฏิบัติได้หลายทาง ซึ่งแต่ละหนทางนั้นจะสะท้อนถึงตัวตนของคนที่แตกต่างกันออกไป เราชอบสรุปภาพรวมของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาว่าเป็นการ “ไม่มัวท่องไปภายนอก” เคยมีคนถามพระอาจารย์หัว ซึ่งเป็นพระอาจารย์ชาวจีนว่า “พระอาจารย์ ท่านต้องดูแลจัดการวัดมากมาย รวมถึงหน้าที่และเรื่องต่างๆ ทั้งหมดนี้ แต่ทำไมท่านถึงยังดูสบายใจอยู่ ท่านทำได้อย่างไร” พระอาจารย์หัวตอบว่า “อ้อ นั่นเพราะเราไม่มัวท่องไปภายนอกอย่างไรล่ะ” พวกเขาถามต่อว่า “เป็นอย่างไรหรือ ที่ว่าท่านไม่เที่ยวท่องไปภายนอก? ท่านแปลว่าอะไร?” “เราไม่ท่องไปภายนอก เราตั้งอยู่ที่ใจ ตั้งอยู่กับที่ ที่ใจ” นี่น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่เรานำมาใช้สรุปสาระสำคัญของการปฏิบัติได้ เป็นหนทางที่ทำให้เราพิจารณาจิต ซึ่งก็คือ กรรมของเรา พิจารณาผลแห่งกรรม คือ ผลที่ว่าหากจิตท่องไปภายนอกแล้ว จะทำให้เกิดทุกข์ เมื่อจิตไม่ท่องออกไปภายนอก ก็จะไม่เกิดทุกข์ ง่ายๆ แต่เพียงเท่านั้น เป็นธรรมดาที่จิตของมนุษย์มักจะเดินทางไปภายนอก เราจึงต้องฝึกปฏิบัติ ด้วยความแน่วแน่และความเพียรเพื่อไม่ให้จิตท่องไปภายนอก การเจริญสมาธิตามแบบแผนทางพุทธศาสนานั้นสอนให้เราควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับที่ รักษาจิตไว้ให้อยู่ที่เดิม ที่ใจ สูดลมหายใจเข้าไปที่ใจ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับใจ อยู่กับจิต อยู่กับความรู้สึกตัว และอยู่กับปัจจุบันขณะ รวบรวมทุกอย่างไว้ที่ใจ รวบรวมความรู้สึกตัวไว้กับใจ เปิดจิตออกให้กว้างเพื่อรับสิ่งต่างๆ เข้ามา เมื่อนั้น แทนที่จะท่องออกไปภายนอกและเตลิดไปกับสิ่งต่างๆ มากมาย จิตของเราก็จะเปิดกว้างและรับสิ่งต่างๆ ได้เอง เราจะรู้สึกถึงประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างมาก ประสบการณ์ 2 แบบนี้ ระหว่างประสบการณ์ของจิตที่ท่องออกไปภายนอก เตลิดไปกับสิ่งต่างๆ หลงไปกับสิ่งเหล่านั้น ยึดติดไปกับสิ่งเหล่านั้น และเมื่อสิ่งนั้นไม่ยั่งยืน จิตก็จะรู้สึกได้เพียงชั่วคราว พอใจอยู่ได้เพียงชั่วคราว แล้วก็จะ “เอ่อ....อ่า.....” ทำอะไรไม่ถูก เราอาจรู้สึกดีในตอนแรกแต่ท้ายที่สุดแล้วก็ “เอ่อ....อ่า...” แต่ถ้าเราเปิดจิตรับสิ่งต่างๆ เราก็จะรู้สึกต่างกันออกไปอย่างมากทีเดียว สมมติว่าเราออกไปเดินเล่นในวันอากาศดีสักวันหนึ่ง ข้างนอกมีดอกไม้สวยงาม จิตของเราเดินทางออกไปและหยิบเอาดอกไม้เหล่านั้นขึ้นมา จิตนั้นผูกติดอยู่กับดอกไม้ ปิติยินดีไปกับสีสันหลากหลายของดอกไม้ และสุดท้ายก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะเมื่อทุกอย่างสิ้นสลายไป จิตนั้นก็จะต้องการดอกไม้อื่นอีก และเราก็จะยึดเอาดอกไม้เป็นที่พึ่งแห่งความสุขของตัวเรา เรารู้สึกดีที่มีดอกไม้อยู่ และรู้สึกไม่ดีเมื่อไม่มีดอกไม้เช่นกัน ดอกไม้เหล่านั้นไม่จีรัง พวกมันคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าหากเราออกไปเดินเล่นในวันอากาศดีวันหนึ่ง เราทำจิตของเราให้เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ โดยง่าย เมื่อเรามองเห็นดอกไม้สวยงาม พวกมันยังคงสวยงาม แต่จิตของเราไม่ได้ท่องออกไปเพื่อหยิบจับมัน เมื่อนั้นดอกไม้เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ที่เดิม อยู่ที่พื้นดินอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่เราเดินออกไป ดอกไม้เหล่านั้นก็จะยังอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าเราคิดจะออกไปเด็ดดอกไม้นั้นกลับมาปักแจกัน เราก็ได้แต่มองดูพวกมันเหี่ยวเฉา เพราะพวกมันคงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ ใช่หรือไม่ จิตที่ยึดติด วิ่งเตลิดตามสิ่งต่างๆ ปิติยินดีไปกับสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “ปิติยินดี” แต่ก็ไม่ใช่ว่า เราจะไม่สามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นได้ เราสามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งต่างๆ ด้วยจิตเปิดกว้างที่ตั้งอยู่กับที่ได้ เป็นไปได้มากด้วย แต่ด้วยหนทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และด้วยการให้ความสนใจที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นความสนใจที่ไม่ปรารถนาจะได้มา ไม่มีความต้องการในความสนใจนั้น เป็นเพียงการรับรู้ เหมือนกับการรับฟังเฉยๆ โดยไม่เรียกร้องต้องการอะไรจากสิ่งใด เป็นเหมือนการรับฟังในสิ่งที่สิ่งนั้นๆ จะบอกกับเรา ดอกไม้เหล่านั้นกำลังบอกอะไรเราอยู่ เราอาจมีมุทิตา มีความเพลิดเพลิน เบิกบานใจร่วมไปกับช่วงเวลาอันงดงามของดอกไม้นั้น ความรู้สึกแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อเราต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ความเบิกบานนั้นก็จะไม่ลบเลือนไปในทันที นี่เป็นหนทางหนึ่งในการอธิบายผลของการปฏิบัติ จะว่าไปก็เหมือนเป็นการเปิดเผยความจริงภายในของจิตที่แท้ ใช่หรือไม่ เหมือนกับว่าเรากำลังตกที่นั่งลำบาก เราพูดถึงการละทิ้งความสุขจากประสาทสัมผัสภายนอกเพื่อโลกแห่งจิตวิญญาณภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่มันอาจจะดูน่ากลัวบ้างเหมือนกันตรงที่ว่าเราเหมือนกำลังสูญเสียอะไรบางอย่างไป แต่ความจริงที่แท้นั้นคือ ที่จริงแล้วเราไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลยสักอย่าง สิ่งที่เราเสียไปคือ ความปรารถนาในใจเท่านั้น ความปรารถนานั้นไม่ใช่ความสุข ความปรารถนาทำให้เราสุขใจหรือไม่ ความอยากได้อยากมีล่ะ ทำให้เราสุขใจหรือไม่ เราลองพิจารณาดู เวลานั่งสมาธิ เราอาจลองพิจารณาความปรารถนาที่เกิดขึ้นในใจ มันทำให้เรามีความสุขหรือเปล่า ลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง จิตที่เปิดกว้างจะพบกับคำตอบด้วยตัวเองว่า ความปรารถนาในใจ ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาอะไรก็ตาม ทำให้เรามีความสุขได้หรือไม่ เมื่อเรามองดูสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความอยากได้อยากมี สิ่งนั้นจะงดงามยิ่งกว่า เราจะมีความสุขไปกับสิ่งนั้นยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นการเปิดเผยความจริงภายในของจิตที่แท้จริง ใช่หรือไม่ เราอาจคิดว่า “อืม ดีนะ ถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่ เราก็ยังสามารถเพลิดเพลินกับสิ่งที่รู้สึกได้จากประสาทสัมผัสเหล่านี้” บางครั้งเราอาจรู้สึกเพลิดเพลินและชื่นชมยินดีกับสิ่งต่างๆ โดยบิดเบือนว่าเป็นความรู้สึกอื่น เมื่อทำเช่นนี้ย่อมไม่ได้ผล เพราะเรายังคงคิดถึงสิ่งเหล่านั้นเมื่อมันจากไป เราอาจกำลังหลอกตัวเอง เราอาจลืมไปว่าทุกวันนี้มีคนมากมายเขียนหรือพูดเกี่ยวกับผลของการปฏิบัติ ซึ่งทำให้เราได้ฟังหรือได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแปลว่าอันที่จริงแล้วความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกเปิดเผยแล้ว ถูกต้องหรือไม่ แต่หากเราเพียงแต่เชื่อเรื่องราวที่ผู้อื่นถ่ายทอดโดยไม่ฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง เราอาจประเมินตัวเองผิดไปก็ได้ การเฝ้าดูจิตเคลื่อนไหวนับเป็นการปฏิบัติที่ดีมากทางหนึ่ง โดยเราสามารถเฝ้าดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อจิตเดินทางท่องไปภายนอกผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ เปรียบเทียบกับเมื่อจิตของเราเปิดกว้างอยู่ภายในใจโดยไม่ยึดติดกับประสาทสัมผัส เราจะเห็นได้ว่าจิตของเราจะพุ่งออกไปทางตา ยึดจับเอาสิ่งที่เห็น เราสามารถรู้สึกได้ภายในดวงตา เป็นความรู้สึกที่รุนแรง เพ่งสมาธิของเราไปที่สิ่งนั้น ในขณะที่จิตของเราเดินทางออกไปทางดวงตา เรามองเห็นอะไรบางอย่าง ดวงตาเรายินดีกับสิ่งนั้น ความรู้สึกของเราสัมพันธ์กับสัมผัสจากดวงตา เป็นสัมผัสที่เกิดจากสำนึกในสิ่งที่ตามองเห็น เรารู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ที่ดวงตาของเรา หรือที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรส สัมผัส ความรู้สึก กลิ่น ทุกประสาทสัมผัส เรายินดีปรีดาไปกับสัมผัสเหล่านั้นเพื่อรู้สึกถึงความสุข ซึ่งเกิดขึ้นและดับลง ไม่จีรัง เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว จึงลองเปรียบเทียบกับความสุขที่เกิดจากจิตที่เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ โดยไม่ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ด้วยวิธีนี้ประสาทสัมผัสของเราจะเปิดกว้างและผ่อนคลาย ไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ หรือเรียกได้ว่า จิตของเราเปิดกว้างและผ่อนคลายภายใต้ประสาทสัมผัสเหล่านั้น จิตของเราผ่อนคลายกับปัจจุบันมากกว่าจะมุ่งเพ่งอยู่กับปัจจุบัน นั่นทำให้เราสงบนิ่ง ไม่ปรารถนาอยากได้สิ่งใด เราสามารถผละจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งได้ เมื่อนั้นจิตของเราก็จะเป็นสุขกับสภาวะของมันเอง กับการเปิดรับสิ่งต่างๆ ซึ่งความสุขนี้มีมากกว่าความสุขที่ได้จากวัตถุสิ่งของที่จิตสัมผัสได้เสียอีก สภาวะของจิตทำให้เราเป็นสุขได้มากกว่าสิ่งที่อยู่ภายในจิตของเราเสียอีก สภาวะนั้นเริ่มมีผลมากกว่า และมีความสำคัญกับเรามากกว่า เราจะตระหนักได้ว่า ความสุขนั้นอยู่ภายในจิตของเรา และเราสามารถสร้างให้มันเกิดขึ้นภายในได้ และสิ่งนี้เองก็ถือเป็นการเปิดเผยความจริงภายในออกมาอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ล่ะ อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai “พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะให้เรามุ่งฝึกความเข้มแข็งเป็นหลัก” |
พระอาจารย์กัลยาโณ Categories
All
|