“การเจริญสติเปรียบดั่งการสอน”สำหรับบางคนแล้ว การปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนาอาจดูค่อนข้างยุ่งยาก แน่นอนว่า มีคำชี้แนะ คำอธิบาย และแนวคิดมากมายให้เราได้เลือกประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราประสบอยู่ เพื่อหาคำตอบว่า “เรื่องที่พบเจออยู่นี้ตรงหรือไม่ตรงกับหลักปฏิบัติในทางพุทธ” เราอาจนำเอาหลักการแบบนี้ไปใช้พิจารณาคำสอนได้ คนที่มีวิธีคิดลักษณะนี้อาจลองศึกษาบทความเกี่ยวกับเรื่อง ศรัทธา แล้วนำแนวคิดที่ได้อ่านไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเห็นตรงหน้า แล้วลองพิจารณดูว่า “แนวคิดนี้เป็นจริงหรือไม่” “เราพิสูจน์เห็นแนวคิดข้อนี้ด้วยตัวเองได้หรือไม่” “เราเข้าใจศรัทธาในลักษณะนี้ได้หรือไม่” “จริงๆ แล้ว ศรัทธาเป็นแบบนี้หรือ” เมื่อเห็นแล้ว จึงศรัทธา นั่นคือ เมื่อเราได้พบเจอจนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง เมื่อนั้นเราจึงจะเชื่อในสิ่งนั้น เรายังอาจเข้าใจได้ด้วยว่า สิ่งกลับกันในทางตรงข้ามไม่เป็นจริงเสมอไป หมายความว่า ศรัทธาไม่ได้ทำให้เรามองเห็น เราอาจเป็นพุทธศาสนิกชนที่อุทิศตนให้ศาสนาอย่างมาก ศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีธรรมะทุกเรื่อง และมีความศรัทธา แต่ศรัทธาเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราเห็นแจ้งได้ ความจริงคือ มันเกิดขึ้นแค่ทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ เมื่อเราเห็นเราจึงศรัทธา แต่เมื่อเราศรัทธา ไม่ได้หมายความว่า เราจะเห็น นี่อาจเป็นหลักคิดที่เราสามารถใช้กับการพิสูจน์หลักธรรม การนำเอาทฤษฎีทางธรรมะหรือ ศรัทธา ไปใช้ได้ ถ้าฟังดูยุ่งยากเกินไป เราอาจเปลี่ยนมาปฏิบัติด้วยวิธีที่ง่ายมากๆ นั่นคือ การเจริญสติ การเจริญสตินั้นเปรียบดั่งการสอน แค่นั้นจริงๆ ถ้าเราเข้าใจว่า การเจริญสติที่แท้นั้นคืออะไร และถ้านิยามในการเจริญสติของเราจะไม่ทำให้เราหลงเดินทางผิด ถ้าอย่างนั้น อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการเจริญสติ ก่อนอื่นนั้นสติคืออะไร สติ ในทางพุทธศาสนามีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า “conscience” (สติสัมปชัญญะ) ในภาษาอังกฤษ มากกว่าแค่ความนึกคิด การติดต่อกับสติสัมปชัญญะของตัวเอง คือ การเจริญสติ เราต้องสร้างสัมปชัญญะให้เจริญขึ้นมากๆ ใจความนี้อาจมีความหมายโดยนัยที่ไม่ดีนัก เพราะสติสัมปชัญญะอาจเป็นสิ่งที่คอยเจ้ากี้เจ้าการเรา เป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป สติสัมปชัญญะอาจเป็นพลังบวกอย่างมหาศาลให้กับชีวิตเราได้ การเชื่อมโยงกับสติสัมปชัญญะของเราเป็นเรื่องสำคัญ เรียกได้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของสติที่เรามี การเจริญสมาธิกรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งในการฝึกเชื่อมโยงกับสติสัมปชัญญะของตนเอง รวมถึงการเปิดใจ พินิจพิจารณา สังเกตผลลัพธ์ของการกระทำของเรา สังเกตกรรมที่เกิดขึ้นและดับไป สังเกตความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ความคิดต่อการใช้ชีวิตที่อาจเปลี่ยนไปของเราในวันรุ่งขึ้น และการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ และเพื่อให้เราอยู่กับปัจจุบัน เราต้องสังเกตทุกอย่างในปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นได้ เราอาจพยายามปล่อยวางอดีต ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตและเริ่มต้นใหม่เรื่อยๆ นั่นเป็นสิ่งที่เราได้จากการเจริญสติ ซึ่งทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันและเริ่มต้นใหม่ ทัศนคติที่ว่า “อืม ไม่เป็นไร คราวหน้าค่อยว่ากันใหม่ละกัน” น่าจะเป็นทัศนคติที่สรุปแนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้อย่างดี วันก่อนอาตมาลองคิดดูว่า สติอาจต้านทานการฝึกฝนด้านศึลธรรมในช่วงแรก แต่หากเราไม่หยุดเรียนรู้ฝึกฝน เราก็จะเริ่มเห็นผลของมัน การไม่หยุดฝึกฝนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว อาตมานึกถึงตอนที่ได้เฝ้าดูชาวไร่แถวบ้านสอนสุนัขเลี้ยงแกะตัวหนึ่งนานกว่า 1 ปี ในช่วงแรกสุนัขตัวนี้ไม่ค่อยอยากทำตามที่เจ้านายพยายามฝึกให้ทำ แต่พอมันเริ่มคุ้นเคยกับวินัยที่ถูกฝึก และได้เห็นผลจากสิ่งที่ตัวเองทำแล้ว มันก็ตื่นเต้นมาก กระโดดโลดเต้นไปมาทั่วไปหมด บ่อยครั้งที่เวลาเราได้รับผลจากการกระทำแล้ว สติและความคิดของเราจะเปลี่ยนไป นั่นเป็นเรื่องปกติ วิธีอื่นนั้นยากที่จะทำให้เราคลายความสงสัยในความคิดของเราไปได้ หลายครั้งการศึกษาค้นคว้าก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่เราใช้ไขข้อข้องใจ แต่นั่นก็อาจไม่ได้ผล การได้รับผลและเข้าใจในทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่สร้างศรัทธาที่แท้จริงให้กับเรา เบื้องต้นทั้งหมดอาจเริ่มจากสิ่งนี้ จากการรวบรวมสติง่ายๆ ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ และคงไว้อยู่อย่างนั้น ไม่ให้สติเผลอไผลไปคิดเสียใจกับอดีตหรือคิดหวังกับอนาคต ปล่อยความคิดให้สบายอยู่กับสติ เคารพสตินั้น และเคารพความอ่อนไหวที่มีอยู่ภายใน ให้ค่ากับสิ่งนั้น ทำให้ความอ่อนไหวนั้นสงบ ไม่ร้อนรน เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ ด้วยการเจริญสมาธิ ให้สติได้สงบ ด้วยการหายใจเข้า หายใจออก นอกจากนี้ยังทำได้ด้วยการพิจารณา พิจารณาถึงลักษณะของสภาวะอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงได้ พิจารณาธรรมชาติของอารมณ์ที่คอยไล่ตามความหงุดหงิดใจอยู่เสมอ อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ไม่เคยอยู่กับเรา ไม่จีรัง เราจึงควรหันหลังให้กับสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อนั้นการให้ความสำคัญของเราก็จะเปลี่ยนไป วัตถุประสงค์ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ก็จะเปลี่ยน เราจะไม่มองดูสิ่งรอบตัวเพื่อความอภิรมย์ แต่จะใส่ใจกับสิ่งนั้นด้วยวิถีแห่งปัญญาและกุศลในที่สุด อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai Comments are closed.
|
พระอาจารย์กัลยาโณ Categories
All
|