" The mind can remain steady" : จิตใจสามารถคงสภาวะธรรมไว้ได้ อาตมาอยากจะเสนอข้อคิดบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติที่มีความเจ็บปวดเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทั่วไป เราเรียนรู้ที่จะทนกับความเจ็บปวดที่ไม่มีผลร้ายต่อร่างกายได้ในขณะนั่งปฏิบัติ ยิ่งฝึกนานขึ้น เราก็จะสามารถทนต่อความไม่สบายทางกายได้มากขึ้น ซึ่งความเจ็บปวดเช่นนี้ ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย คนส่วนใหญ่มักจะแยกออกระหว่างความเจ็บปวดทั่วไปที่เกิดจากการนั่งนานๆ กับความเจ็บแปลบอย่างรุนแรงที่เป็นสัญญาณ ของปัญหาข้อเข่าหรือหลังที่ตามมา ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ คือการฝึกร่างกายให้ทนกับความเจ็บปวดที่ไม่มีผลเสียกับร่างกายได้ เมื่อร่างกายเราแข็งแกร่งขึ้น จิตใจก็จะมั่นคงขึ้นด้วย การฝึกฝนที่จะไม่หนีความยากลำบากจึงเป็นสิ่งที่ดีและมีเป็นประโยชน์ เราจะพบว่า เราควรเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตบ้างเพื่อให้รู้สึกอิสระ ไม่ติดกับดักความสบาย เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เพื่อหาความสบายและหลีกเลี่ยงความยากลำบากไปมากเท่าไหร่แล้ว ถ้าเราหัดนั่งดูความเจ็บปวดบ้าง เราจะรู้ว่ามันไม่แย่อย่างที่คิด โดยเฉพาะในกรณีที่เราสามารถแยกความรู้สึกทางกาย และความรู้สึกทางใจออกจากกันได้ โดยใช้สติและความรู้ตัวทั่วพร้อม ตัวอย่างเช่น เมื่อเราปวดเข่าในขณะที่นั่งปฏิบัติ แม้จะไม่อยากนั่งทนความเจ็บปวดนั้น แต่ในตอนแรก เราก็ต้องฝืนเอาบ้าง พอเราเริ่มให้ความสนใจไปที่เข่า และบริเวณรอบๆนั้น เราจะรู้สึกว่า มันถูกความเจ็บปวดครอบคลุมจนสั่นสะเทือน เราเริ่มรับรู้สองสิ่งที่เกิดขึ้น และตระหนักว่าสองสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ใจเราเริ่มแยกมันออกจากกัน ขณะที่ความปวดทางกายชัดเจนขึ้นทุกที ถ้าใจเราเริ่มขุ่นมัวเพราะความเจ็บปวดนั้น เราจะเห็นได้ทันทีว่า ใจเราหรืออารมณ์ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความเจ็บปวดทางกาย สองสิ่งนี้แยกจากกันโดยเด็ดขาด เหมือนน้ำกับน้ำมันที่อยู่ในขวดเดียวกันแต่ไม่ปนกัน บางครั้งความเจ็บปวดทางกายก็หายไป เมื่อเราแยกอารมณ์และความเจ็บปวดออกจากกัน แต่บางครั้งมันก็ยังคงอยู่ แต่เรามีความอดทนมากขึ้น ความทุกข์จึงน้อยลง สังเกตว่า ความเจ็บปวดและความทุกข์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บางครั้งความเจ็บปวดมีมาก แต่เราทุกข์น้อย หรือบางครั้งความเจ็บปวดมีน้อยแต่เราทุกข์มาก ถ้าเรารู้ว่าความเจ็บปวดนั้นไม่ทำอันตรายกับเรา เราจะทุกข์กับมันน้อยลง ความเจ็บปวดเป็นสัญญาณที่บอกให้เราระวังไม่ให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บ ถ้าทันทีที่เราลุกขึ้นเดิน แล้วความเจ็บปวดหายไป ก็แสดงว่าความเจ็บปวดนั้น ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกาย เราจึงควรฝึกที่จะทนมันให้ได้ เราสามารถฝึกจิตไม่ให้วุ่นวายกับสิ่งที่เป็นปกติดีอยู่ ถ้าเราทนกับความไม่สบายกายเช่นนี้ได้ เราก็สามารถทนกับสิ่งอื่นๆได้เช่นกัน ต่อไป เราก็รู้วิธีที่จะทนกับความไม่สบายใจได้ด้วยวิธีเดียวกัน ถามตัวเองว่า เราไปเพิ่มความทุกข์ในใจเหมือนที่เราทำกับกายหรือไม่ เราทำให้ใจเราทุกข์น้อยลงโดยวิธีที่ฉลาด หรือทำให้ทุกข์มากขึ้นโดยวิธีอื่น ถ้าเรารู้ว่าเราเพิ่มความทุกข์ให้ตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง เพราะการที่เรารู้ตัวและมองเห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราจะหยุดทำสิ่งนั้นได้เอง เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ประสบการณ์ในตัวเราเองจะค่อนข้างสับสน เพราะเต็มไปด้วยความรู้สึกและความคิดปะปนเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นประสบการณ์เดียวกัน คือ "ฉันรู้สึกอย่างไร" ทุกอย่างจะสับสนปนเปไปหมด แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย และอะไรเป็นความเจ็บปวดทางใจ หรือแยกอารมณ์กับร่างกายไม่ออก บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่า ร่างกายคือกลุ่มก้อนของความรู้สึก เราจับตัวตนจริงๆของร่างกายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของมัน เรามักจะลืมมุมมองด้านอื่น เพราะมัวแต่เพ่งอยู่กับความเจ็บปวดที่เราไปยึดมันไว้ แล้วทำให้มันแย่ขึ้นไปอีกโดยการรัดมันไว้แน่น ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเพ่งอยู่กับความเจ็บปวด ถ้าใจเราเปิดรับมันเสีย มันคือก้าวแรกที่จะผ่อนคลายและวางความเจ็บปวดนั้นได้ จากประสบการณ์ของอาตมา ซึ่งผ่านความเจ็บปวดมามากมาย เคยมีปัญหาเกี่ยวกับหลังและบาดเจ็บจากงานก่อสร้างและการใช้ร่างกายทำงานหนักมานานนับปี อาตมาจึงสามารถพูดเรื่องนี้ได้จากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่ฟังคนอื่นมา วิธีที่พูดถึงนี้ ได้ผลดีกับอาตมาและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อมีความเจ็บปวด เมื่อใจเรานิ่งได้โดยการปฏิบัติภาวนา ใจเราก็สามารถคงสภาวะธรรมนั้นไว้ได้ ในเวลาที่เจ็บปวดเช่นกัน อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai Comments are closed.
|
พระอาจารย์กัลยาโณ Categories
All
|