“เปิดเผยความจริงภายในของจิต”
เราสามารถสรุปใจความสำคัญของการปฏิบัติได้หลายทาง ซึ่งแต่ละหนทางนั้นจะสะท้อนถึงตัวตนของคนที่แตกต่างกันออกไป เราชอบสรุปภาพรวมของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาว่าเป็นการ “ไม่มัวท่องไปภายนอก” เคยมีคนถามพระอาจารย์หัว ซึ่งเป็นพระอาจารย์ชาวจีนว่า “พระอาจารย์ ท่านต้องดูแลจัดการวัดมากมาย รวมถึงหน้าที่และเรื่องต่างๆ ทั้งหมดนี้ แต่ทำไมท่านถึงยังดูสบายใจอยู่ ท่านทำได้อย่างไร” พระอาจารย์หัวตอบว่า “อ้อ นั่นเพราะเราไม่มัวท่องไปภายนอกอย่างไรล่ะ” พวกเขาถามต่อว่า “เป็นอย่างไรหรือ ที่ว่าท่านไม่เที่ยวท่องไปภายนอก? ท่านแปลว่าอะไร?” “เราไม่ท่องไปภายนอก เราตั้งอยู่ที่ใจ ตั้งอยู่กับที่ ที่ใจ” นี่น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่เรานำมาใช้สรุปสาระสำคัญของการปฏิบัติได้ เป็นหนทางที่ทำให้เราพิจารณาจิต ซึ่งก็คือ กรรมของเรา พิจารณาผลแห่งกรรม คือ ผลที่ว่าหากจิตท่องไปภายนอกแล้ว จะทำให้เกิดทุกข์ เมื่อจิตไม่ท่องออกไปภายนอก ก็จะไม่เกิดทุกข์ ง่ายๆ แต่เพียงเท่านั้น เป็นธรรมดาที่จิตของมนุษย์มักจะเดินทางไปภายนอก เราจึงต้องฝึกปฏิบัติ ด้วยความแน่วแน่และความเพียรเพื่อไม่ให้จิตท่องไปภายนอก การเจริญสมาธิตามแบบแผนทางพุทธศาสนานั้นสอนให้เราควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับที่ รักษาจิตไว้ให้อยู่ที่เดิม ที่ใจ สูดลมหายใจเข้าไปที่ใจ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับใจ อยู่กับจิต อยู่กับความรู้สึกตัว และอยู่กับปัจจุบันขณะ รวบรวมทุกอย่างไว้ที่ใจ รวบรวมความรู้สึกตัวไว้กับใจ เปิดจิตออกให้กว้างเพื่อรับสิ่งต่างๆ เข้ามา เมื่อนั้น แทนที่จะท่องออกไปภายนอกและเตลิดไปกับสิ่งต่างๆ มากมาย จิตของเราก็จะเปิดกว้างและรับสิ่งต่างๆ ได้เอง เราจะรู้สึกถึงประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างมาก ประสบการณ์ 2 แบบนี้ ระหว่างประสบการณ์ของจิตที่ท่องออกไปภายนอก เตลิดไปกับสิ่งต่างๆ หลงไปกับสิ่งเหล่านั้น ยึดติดไปกับสิ่งเหล่านั้น และเมื่อสิ่งนั้นไม่ยั่งยืน จิตก็จะรู้สึกได้เพียงชั่วคราว พอใจอยู่ได้เพียงชั่วคราว แล้วก็จะ “เอ่อ....อ่า.....” ทำอะไรไม่ถูก เราอาจรู้สึกดีในตอนแรกแต่ท้ายที่สุดแล้วก็ “เอ่อ....อ่า...” แต่ถ้าเราเปิดจิตรับสิ่งต่างๆ เราก็จะรู้สึกต่างกันออกไปอย่างมากทีเดียว สมมติว่าเราออกไปเดินเล่นในวันอากาศดีสักวันหนึ่ง ข้างนอกมีดอกไม้สวยงาม จิตของเราเดินทางออกไปและหยิบเอาดอกไม้เหล่านั้นขึ้นมา จิตนั้นผูกติดอยู่กับดอกไม้ ปิติยินดีไปกับสีสันหลากหลายของดอกไม้ และสุดท้ายก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะเมื่อทุกอย่างสิ้นสลายไป จิตนั้นก็จะต้องการดอกไม้อื่นอีก และเราก็จะยึดเอาดอกไม้เป็นที่พึ่งแห่งความสุขของตัวเรา เรารู้สึกดีที่มีดอกไม้อยู่ และรู้สึกไม่ดีเมื่อไม่มีดอกไม้เช่นกัน ดอกไม้เหล่านั้นไม่จีรัง พวกมันคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าหากเราออกไปเดินเล่นในวันอากาศดีวันหนึ่ง เราทำจิตของเราให้เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ โดยง่าย เมื่อเรามองเห็นดอกไม้สวยงาม พวกมันยังคงสวยงาม แต่จิตของเราไม่ได้ท่องออกไปเพื่อหยิบจับมัน เมื่อนั้นดอกไม้เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ที่เดิม อยู่ที่พื้นดินอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่เราเดินออกไป ดอกไม้เหล่านั้นก็จะยังอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าเราคิดจะออกไปเด็ดดอกไม้นั้นกลับมาปักแจกัน เราก็ได้แต่มองดูพวกมันเหี่ยวเฉา เพราะพวกมันคงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ ใช่หรือไม่ จิตที่ยึดติด วิ่งเตลิดตามสิ่งต่างๆ ปิติยินดีไปกับสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “ปิติยินดี” แต่ก็ไม่ใช่ว่า เราจะไม่สามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นได้ เราสามารถเพลิดเพลินไปกับสิ่งต่างๆ ด้วยจิตเปิดกว้างที่ตั้งอยู่กับที่ได้ เป็นไปได้มากด้วย แต่ด้วยหนทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และด้วยการให้ความสนใจที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นความสนใจที่ไม่ปรารถนาจะได้มา ไม่มีความต้องการในความสนใจนั้น เป็นเพียงการรับรู้ เหมือนกับการรับฟังเฉยๆ โดยไม่เรียกร้องต้องการอะไรจากสิ่งใด เป็นเหมือนการรับฟังในสิ่งที่สิ่งนั้นๆ จะบอกกับเรา ดอกไม้เหล่านั้นกำลังบอกอะไรเราอยู่ เราอาจมีมุทิตา มีความเพลิดเพลิน เบิกบานใจร่วมไปกับช่วงเวลาอันงดงามของดอกไม้นั้น ความรู้สึกแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อเราต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ความเบิกบานนั้นก็จะไม่ลบเลือนไปในทันที นี่เป็นหนทางหนึ่งในการอธิบายผลของการปฏิบัติ จะว่าไปก็เหมือนเป็นการเปิดเผยความจริงภายในของจิตที่แท้ ใช่หรือไม่ เหมือนกับว่าเรากำลังตกที่นั่งลำบาก เราพูดถึงการละทิ้งความสุขจากประสาทสัมผัสภายนอกเพื่อโลกแห่งจิตวิญญาณภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่มันอาจจะดูน่ากลัวบ้างเหมือนกันตรงที่ว่าเราเหมือนกำลังสูญเสียอะไรบางอย่างไป แต่ความจริงที่แท้นั้นคือ ที่จริงแล้วเราไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลยสักอย่าง สิ่งที่เราเสียไปคือ ความปรารถนาในใจเท่านั้น ความปรารถนานั้นไม่ใช่ความสุข ความปรารถนาทำให้เราสุขใจหรือไม่ ความอยากได้อยากมีล่ะ ทำให้เราสุขใจหรือไม่ เราลองพิจารณาดู เวลานั่งสมาธิ เราอาจลองพิจารณาความปรารถนาที่เกิดขึ้นในใจ มันทำให้เรามีความสุขหรือเปล่า ลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง จิตที่เปิดกว้างจะพบกับคำตอบด้วยตัวเองว่า ความปรารถนาในใจ ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาอะไรก็ตาม ทำให้เรามีความสุขได้หรือไม่ เมื่อเรามองดูสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความอยากได้อยากมี สิ่งนั้นจะงดงามยิ่งกว่า เราจะมีความสุขไปกับสิ่งนั้นยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นการเปิดเผยความจริงภายในของจิตที่แท้จริง ใช่หรือไม่ เราอาจคิดว่า “อืม ดีนะ ถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่ เราก็ยังสามารถเพลิดเพลินกับสิ่งที่รู้สึกได้จากประสาทสัมผัสเหล่านี้” บางครั้งเราอาจรู้สึกเพลิดเพลินและชื่นชมยินดีกับสิ่งต่างๆ โดยบิดเบือนว่าเป็นความรู้สึกอื่น เมื่อทำเช่นนี้ย่อมไม่ได้ผล เพราะเรายังคงคิดถึงสิ่งเหล่านั้นเมื่อมันจากไป เราอาจกำลังหลอกตัวเอง เราอาจลืมไปว่าทุกวันนี้มีคนมากมายเขียนหรือพูดเกี่ยวกับผลของการปฏิบัติ ซึ่งทำให้เราได้ฟังหรือได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแปลว่าอันที่จริงแล้วความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกเปิดเผยแล้ว ถูกต้องหรือไม่ แต่หากเราเพียงแต่เชื่อเรื่องราวที่ผู้อื่นถ่ายทอดโดยไม่ฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง เราอาจประเมินตัวเองผิดไปก็ได้ การเฝ้าดูจิตเคลื่อนไหวนับเป็นการปฏิบัติที่ดีมากทางหนึ่ง โดยเราสามารถเฝ้าดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อจิตเดินทางท่องไปภายนอกผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ เปรียบเทียบกับเมื่อจิตของเราเปิดกว้างอยู่ภายในใจโดยไม่ยึดติดกับประสาทสัมผัส เราจะเห็นได้ว่าจิตของเราจะพุ่งออกไปทางตา ยึดจับเอาสิ่งที่เห็น เราสามารถรู้สึกได้ภายในดวงตา เป็นความรู้สึกที่รุนแรง เพ่งสมาธิของเราไปที่สิ่งนั้น ในขณะที่จิตของเราเดินทางออกไปทางดวงตา เรามองเห็นอะไรบางอย่าง ดวงตาเรายินดีกับสิ่งนั้น ความรู้สึกของเราสัมพันธ์กับสัมผัสจากดวงตา เป็นสัมผัสที่เกิดจากสำนึกในสิ่งที่ตามองเห็น เรารู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ที่ดวงตาของเรา หรือที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรส สัมผัส ความรู้สึก กลิ่น ทุกประสาทสัมผัส เรายินดีปรีดาไปกับสัมผัสเหล่านั้นเพื่อรู้สึกถึงความสุข ซึ่งเกิดขึ้นและดับลง ไม่จีรัง เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว จึงลองเปรียบเทียบกับความสุขที่เกิดจากจิตที่เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ โดยไม่ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ด้วยวิธีนี้ประสาทสัมผัสของเราจะเปิดกว้างและผ่อนคลาย ไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ หรือเรียกได้ว่า จิตของเราเปิดกว้างและผ่อนคลายภายใต้ประสาทสัมผัสเหล่านั้น จิตของเราผ่อนคลายกับปัจจุบันมากกว่าจะมุ่งเพ่งอยู่กับปัจจุบัน นั่นทำให้เราสงบนิ่ง ไม่ปรารถนาอยากได้สิ่งใด เราสามารถผละจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งได้ เมื่อนั้นจิตของเราก็จะเป็นสุขกับสภาวะของมันเอง กับการเปิดรับสิ่งต่างๆ ซึ่งความสุขนี้มีมากกว่าความสุขที่ได้จากวัตถุสิ่งของที่จิตสัมผัสได้เสียอีก สภาวะของจิตทำให้เราเป็นสุขได้มากกว่าสิ่งที่อยู่ภายในจิตของเราเสียอีก สภาวะนั้นเริ่มมีผลมากกว่า และมีความสำคัญกับเรามากกว่า เราจะตระหนักได้ว่า ความสุขนั้นอยู่ภายในจิตของเรา และเราสามารถสร้างให้มันเกิดขึ้นภายในได้ และสิ่งนี้เองก็ถือเป็นการเปิดเผยความจริงภายในออกมาอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ล่ะ อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา อาจารย์กัลยาโณ ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่: www.openthesky.co.uk/thai Comments are closed.
|
พระอาจารย์กัลยาโณ Categories
All
|