Open The Sky - Reflective and creative work by Ajahn Kalyano
  • Home
  • Artwork
  • Poetry & prose
  • Contemplative photography
  • Video
  • Articles
  • Dhamma books
  • Talks
  • Library
  • Other languages
    • บทความภาษาไทย
    • Norsk
    • Italian (Link)

Buddhist Therapy : พุทธบำบัด

17/11/2018

 

“หนทางอันเป็นที่สุด”
​

ค่ำนี้อาตมาคิดไว้ว่า จะพูดเรื่องพุทธศาสนาซึ่งช่วยเชื่อมโยงตัวเรากับโลกแห่งอารมณ์ของเราเอง หรือการที่พุทธศาสนาเปรียบเหมือนการบำบัดจิตให้กับเรา รวมถึงความเหมือนและความแตกต่างของพุทธศาสนาและการบำบัดทางการแพทย์ ด้วยความที่ได้ศึกษาวิชาจิตวิทยามาก่อน อาตมาจึงรู้สึกว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะพูดเรื่องนี้ในบริบทของการปฏิบัติธรรมตามวิถีพุทธที่จะนำไปสู่เรื่องของการบำบัดต่อไป

บ่อยครั้งเวลาที่เราเริ่มเจริญสมาธิ โลกแห่งอารมณ์มักจะมีอิทธิพลต่อจิตของเรามากกว่า หรืออธิบายได้ว่า เรามีเรื่องมากมายเข้ามาในความคิดให้ต้องตอบโต้หรือตอบสนอง เหมือนกับการเปิดกล่องแพนโดราจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งต่อไปเรื่อยไม่จบสิ้น

ก่อนอื่นต้องดูว่า สิ่งนี้คืออะไร ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุข้างต้นก็เพราะในช่วงเวลาของการนั่งสมาธิชั่วขณะหนึ่งนั้น เรากำลังปฏิเสธตัวเราเองอยู่ เราไม่แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความอยากในความคิด เราไม่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่เราแค่นั่งอยู่นิ่งๆ อย่างนั้น ความอยากเหล่านี้จึงเข้ามาในความคิดของเรา แต่มันก็ไม่ได้บอกเราว่ามันต้องการอะไรกันแน่ ความอยากนั้นพูดกับเราได้ในทุกรูปแบบ บางครั้งก็ฟังดูมีเหตุผลมากๆ ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความอยากจะพูดกับเราว่า “ฉันไม่อยากทำอย่างนี้ ฉันอยากทำอย่างอื่นมากกว่า” บางครั้งมันก็อาจแค่ส่งสัญญาณโอดโอยแอบแฝงมา โดยไม่แสดงตัวตนออกมาในทีแรก เราจึงต้องพิจารณาให้ลึกยิ่งขึ้นเพื่อเข้าใจว่าความโอดโอยทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดมาจากไหน

อย่างเช่น การตอบสนองต่อความปวดเมื่อยจากการนั่ง ถ้าเราไม่คุ้นชินกับการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ความรู้สึกไม่สบายตัวอาจก่อให้เกิดอะไรหลายอย่างตามมา บางคนอาจมองข้ามความรู้สึกนี้ไป โดยไม่รู้ว่านั่นอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สบายตัวนั้น พวกเขาไม่เคยชินกับการอดทนต่อความลำบากกายด้วยเหตุผลที่ดูเหมือนจะไม่เข้าท่านี้ ซึ่งการทำเช่นนั้นอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรารู้สึกปวดเมื่อยอยู่ก็ได้ ถ้าเราทำความเข้าใจและตั้งจิตอยู่บนความไม่สบายตัวนั้น เข้าใจได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร หรือเราอาจจะเรียนรู้วิธีอดทนกับมันได้ การอดทนกับความทุกข์กาย ไม่ยอมให้ความทุกข์กายนั้นมาทำให้จิตของเราไม่สงบถือเป็นความชำนาญที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะในที่สุดแล้ว เราก็ไม่สามารถจะวิ่งหนีความทุกข์กายทั้งหมดในชีวิตเราไปได้ และถ้าหากเราต้องใช้ชีวิตที่มีอยู่วิ่งหนีมันอยู่ตลอด ชีวิตก็คงจะไม่เป็นชีวิตสักเท่าไหร่ 

ถ้าเรามองให้ลึกลงไป ก็อาจจะดูเหมือนว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นอารมณ์ของเรามีความสัมพันธ์กับร่างกายของเรา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาหลายคนได้พูดถึงมาแล้ว จิตแพทย์หลายคนพูดในทำนองว่าสิ่งที่เป็นอารมณ์ของเรานี้อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา ฟังดูก็เหมือนกับว่า มันก่อกำเนิดขึ้นมาจากร่างกายของเราเอง ความรู้สึกส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกนั้นอยู่ภายในร่างกายของเรา นั่นก็คือ ร่างกายคนเรารู้สึกได้ถึงสิ่งต่างๆ 

ที่จริงแล้ว ความรู้สึกนั้นไม่ได้อยู่ในร่างกายเสียทีเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรารับรู้ได้จากการปฏิบัติธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากจนสามารถเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เรามีต่อภาวะอารมณ์ของเราไปโดยสิ้นเชิง หากเพียงแต่เราตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งที่เรารู้สึกนั้นไม่ได้อยู่ในร่างกายแต่อยู่ในจิตของเรา เราอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความรู้สึกพวกนี้วนเวียนและติดอยู่ในร่างกายของเรา การฝึกโยคะสมัยใหม่ทำให้คนได้รู้จักร่างกายของตนเอง และได้ปลดปล่อยสิ่งที่รู้สึกอยู่ภายในทั้งหมดออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ได้ฝึกจะรู้สึกว่า “การได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดออกมาทำให้เรามีสุขภาวะที่ดีมาก” นั่นเป็นความจริงแต่ก็จริงเพียงครึ่งเดียว วิธีการในแบบของโยคีนั้นมีประโยชน์แต่ก็ยังไม่ใช่หนทางที่เป็นที่สุด

ที่สุดแล้ว การที่เรารู้สึกว่า ความรู้สึกต่างๆ อยู่ในร่างกายเราก็เป็นเพราะจิตของเรานั้นผูกติดอยู่กับกายของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ความคิดและความรู้สึกหรืออารมณ์ของเราก่อกำเนิดขึ้นมาจากกายภายนอก นั่นคือ ความคิดเกิดอยู่ในหัวของเรา หรือความรู้สึกเกิดอยู่ในร่างกายของเรา แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับร่างกายแล้ว บริบทเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ถ้าจิตผละออกจากกายได้ผ่านการเจริญสมาธิ สมการเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไป

อารมณ์ของเราอาจดูเหมือนติดอยู่ในร่างกาย นั่นก็เป็นเพราะจิตของเราติดอยู่ในร่างกาย แต่ถ้าจิตของเราไม่ผูกติดอยู่ในร่างกายแล้ว ความรู้สึกของเราก็จะไม่ติดอยู่เช่นกัน เมื่อนั้นเราก็ไม่ต้องไปวิ่งตามมันอีก เพราะความรู้สึกเหล่านั้นจะอยู่ตรงหน้าเรา ในที่ที่เป็นอิสระมากขึ้น ถ้าเราคิดไปว่า ความรู้สึกติดอยู่ในที่แคบๆ ในร่างกาย ความแคบและความไร้อิสระนั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์จากความรู้สึกเหล่านั้นนั่นเอง

หากเราสามารถเปิดประตูให้ความรู้สึกได้ก้าวออกไปสู่พื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เราก็จะได้สัมผัสกับความแตกต่างซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะได้รับจากการเจริญสมาธิ เราจะรู้สึกถึงร่างกาย ถึงท่าทาง ในลักษณะของความตื่นรู้ที่เปิดกว้าง โดยไม่ต้องมุ่งคิดถึงสิ่งเหล่านั้น เราไม่ได้กำลังมองลึกลงไปเพื่อตามหาความรู้สึกด้วยการเพ่งจิตไปที่สิ่งนั้น แต่เรากำลังเปิดจิตของเราให้กว้าง แล้วปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นได้เคลื่อนไหวไปตามปกติอย่างเป็นอิสระจากการปิดกั้นภายใน การทำเช่นนี้จะทำให้เราเป็นสุข อิสระ และเบิกบานอย่างมาก เราเริ่มมองเห็นสัจธรรมที่แท้ นั่นหมายความว่า เราสามารถบำบัดตัวเราเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นมาช่วยตีความความรู้สึกของเราอีกต่อไป อีกนัยหนึ่งคือ เราสามารถเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นอย่างชัดเจนด้วยตัวเราเองโดยไม่ต้องรู้สึกยุ่งยากกับการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับจิตแพทย์ กับการคิดคาดคะเน การพึ่งพาผู้อื่น และอะไรอย่างอื่นอีกมากมาย

เมื่อเราสร้างพื้นฐานเบื้องต้นในการดูแลสติ ดูแลร่างกายทั้งหมด ก็ถือเป็นการเปิดช่องให้เราได้เข้าใจโลกแห่งอารมณ์ของเรานั่นเอง อาตมาจำได้ว่า สองปีหลังจากที่พ่อของอาตมาเสียชีวิตท่ามกลางความเศร้าเสียใจอย่างมาก อาตมามีโอกาสได้ลองปฏิบัติธรรมเป็นครั้งแรกในป่าที่ Chithurst อาตมากระตือรือร้นมากในการพิจารณาร่างกายของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า พิจารณาถึงความรู้สึกต่างๆ ที่ร่างกายรับรู้ พอกลับไปที่วัด มีภิกษุณีรูปหนึ่งบรรยายถึงการเสียชีวิตของพ่อของเขา ตอนนั้นเองที่ความรู้สึกทั้งหมดท่วมท้นขึ้นมาอย่างรุนแรงและควบคุมไม่ได้ ด้วยความเป็นคนอังกฤษ อาตมาจึงวิ่งหนีไปที่ห้องส่วนตัวชั้นบนแล้วร้องไห้แบบเอาเป็นเอาตายถึงสองชั่วโมง หลังจากนั้นก็ไม่เคยเป็นอีกเลย

ในแง่ของการบรรเทาอาการเครียดภายหลังเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจ นี่เป็นสิ่งที่จิตแพทย์ต้องการ พวกเขาต้องการให้ความรู้สึกทั้งหมดเอ่อท้นขึ้นมาแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ท่วมท้นขึ้นในใจคนไข้ได้อย่างไรโดยไม่ให้คนไข้รู้สึกสะเทือนใจกับเรื่องเดิมอีกครั้ง หรือกล่าวได้ว่า เมื่อความทรงจำหรือความรู้สึกนั้นกลับมาอีกครั้งก็เท่ากับว่าเราต้องทุกข์ทรมานกับมันอีกครั้งด้วยเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ถูกปลดปล่อยออกไปแต่อย่างใด เราแค่กำลังย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ขุ่นข้องใจทั้งหมดและสะเทือนใจกับมันอีกครั้ง และเมื่อความรู้สึกเหล่านั้นกลับมาอีกในครั้งต่อไป ทั้งหมดก็จะย้อนกลับมาเกิดใหม่อีก และก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปทุกครั้ง

ถ้าอย่างนั้น เราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ การยอมรับเอาความรู้สึกเหล่านี้เข้ามาในใจที่เปิดกว้างได้ด้วยการเจริญสติ ระลึกถึงร่างกายของเราเองเพื่อเปิดช่องทางให้กับอารมณ์ความรู้สึก ผ่านความตระหนักรู้ถึงร่างกายนั้นด้วยจิตบริสุทธิ์ เมื่อนั้นความรู้สึกต่างๆ ก็จะผ่านไปตามทางของมันเอง

ส่วนการฝึกเพื่อปลดปล่อยจิตจากร่างกายของตัวเองนั้น เป็นผลของการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลามากกว่ามาก เมื่อเราแน่วแน่ในการพิจารณากายเราแล้ว จิตก็จะเป็นอิสระจากร่างกายของเรา เราจะรู้สึกว่า จิตและกายนั้นแยกออกจากกัน นั่นเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อนยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานและการปฏิบัติที่มุ่งมั่นกว่ามากจึงจะทำได้สำเร็จ ถือเป็นหนทางที่เป็นที่สุด คือ การที่เราตัดขาดจากก้นบึ้งของทุกสิ่ง ก้นบึ้งของการยึดติด เพื่อที่จิตจะได้ถูกปลดปล่อยออกจากร่างกาย เมื่อนั้นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ก็จะไม่ถูกกักขังอีกต่อไป

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ การฝึกปล่อยอารมณ์ให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระมากขึ้น การทนทุกข์จากอารมณ์เกิดจากการสกัดกั้นอารมณ์นั้น ดังนั้นเมื่อเราปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นเคลื่อนไหวอย่างอิสระในพื้นที่แห่งจิตที่เปิดกว้าง เราก็จะรับมือกับมันได้ง่ายขึ้นจนน่าตกใจทีเดียว
​

Picture

อาตมาขอเสนอธรรมะนี้เพื่อการเรียนรู้และพิจารณา

อาจารย์กัลยาโณ
​

​
ติดตามคำสอนเพิ่มเติมที่แปลเป็นไทยแล้วได้ที่นี่:

www.openthesky.co.uk/thai





Comments are closed.

    พระอาจารย์กัลยาโณ
    พระเถระในสายหลวงพ่อชา สุภัทโท และเป็นเจ้าอาวาสของวัด
    โลกุตตรวิหาร ในประเทศนอร์เวย์​ ก่อนบรรพชา ท่านเป็นชาวพุทธที่ฝึกปฎิบัติ
    ตั้งแต่อายุ 17 ปี  เส้นทาง
    การปฎิบัติและความสนใจของท่าน ได้นำท่านให้ทำงานในโรงพยาบาลมาเกือบยี่สิบปี


    Categories

    All
    จาก"สายธารแห่งธรรม"
    วีดีโอ
    บทความ "ช่วงเวลาวิกฤต"
    งานศิลปะ
    ธรรมปรารภ
    ธรรมปรารภ
    ชีวิตส่วนตัว
    โพสการ์ดธรรมะ

Powered by Create your own unique website with customizable templates.
  • Home
  • Artwork
  • Poetry & prose
  • Contemplative photography
  • Video
  • Articles
  • Dhamma books
  • Talks
  • Library
  • Other languages
    • บทความภาษาไทย
    • Norsk
    • Italian (Link)